ที่มา: การโดดร่มแบบ Tandem Jump And Accelerated Free Fall (AFF)
ขอขอบคุณ พ.ต.อ.ไวทยวัฒน์ บุญชูวิทย์ ผกก.ฝอ.บก.สอ.บช.ตชด.
กล่าวทั่วไป
ในปัจจุบันนี้การโดดร่มแบบกระตุกเองมีการพัฒนา และมีการโดดกันอย่างแพร่หลายทั้งด้านการทหารและด้านการฝึกของพลเรือน ความรู้สึกที่เห็นว่าการโดดร่มแบบกระตุกเองเป็นเรื่องที่น่ากลัว และเป็นอันตรายนั้น ค่อย ๆ หายออกไปจากความคิดของคนทั่วไป แต่มีความรู้สึกที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมมีมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันได้มีร่มและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยที่เชื่อถือได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงระบบการฝึกและความสามารถของครูฝึกที่เชื่อถือได้เช่นกัน ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่บุคคลทั่วไปได้เห็นการโดดต่าง ๆ ด้วยรูปภาพนิ่งและภาพที่บันทึกจากกล้องวีดีโอ ก็เป็นสื่อที่รบเร้าจิตใจเป็นอย่างมาก ระบบที่ใช้ในการฝึกโดดร่มแบบกระตุกเองที่ทำให้บุคคลทั่วไป สามารถที่เข้าร่วมฝึกทำการโดดได้โดยไม่ต้องเสียเวลามากนักนั่นก็คือ ระบบ Tandem Jumping และการฝึก AFF (Accelerated Free Fall) นั่นเอง
Tandem Jumping
Tandem Jumping เป็นการโดดร่มแบบกระตุกเอง ด้วยร่มเหลี่ยมขนาดใหญ่แบบหนึ่ง ซึ่งสามารถโดดได้โดยคน 2 คน ต่อร่ม ร่มเดียวคนโดดหลักคือ ครูฝึก หรือ Tandem Master อีกคนหนึ่งคือนักเรียน หรือผู้โดยสาร (Passenger) ในสมัยนี้เป็นที่นิยมกันมากตามศูนย์ฝึกโดดร่มพลเรือนหรือตามสมาคมโดดร่มต่าง ๆ ที่ถือว่าการโดดร่มเป็นการกีฬา และดำเนินกิจการโดดร่มเป็นเรื่องของธุรกิจการค้า เป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับบุคคลที่ต้องการโดดร่มโดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการฝึก คือ ต้องการโดดเพื่อประสบการณ์หรือได้ทดลองเท่านั้น ไม่มีจุดประสงค์ที่จะทำการโดดต่อไป ส่วนมากเมื่อโดดแล้วก็จะไม่ต้องการจะโดดอีกเป็นครั้งที่สอง ส่วนการโดดอีกลักษณะหนึ่งของ Tandem Jumping ก็คือ เป็นการเตรียมตัวที่จะฝึกโดดแบบกระตุกเองต่อไปในระบบ AFF กล่าวคือนักเรียนจะทำการโดด Tandem Jumpingกับครูฝึกก่อนประมาณ 3-5 ครั้ง เพื่อเรียนรู้ถึงการปฏิบัติตัวกลางอากาศและทำตัวเองให้เกิดความคุ้นเคยกับการ Free Fall โดยมีครูฝึกควบคุมและตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ว่าสามารถจะทำการโดดในขั้นต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งทุกครั้งที่ทำการโดด Tandem จะโดดในระยะสูง 10,000 ฟุต และมีเวลาช่วงที่ Free Fall ประมาณ 30 วินาที
Tandem Jumping ไม่ใช่เรื่องใหม่ กล่าวคือ ประมาณไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีที่แล้ว William R.Booth และเพื่อนได้เคยลองโดดกันมาแล้วด้วยร่มทิ้งของแบบเก่า (44 Foot Cargo Chute) ซึ่งถึงแม่ว่าทั้งสองคนเป็นนักโดดที่มีประสบการณ์แล้วก็ตามแต่ก็ทำให้เกือบตายเหมือนกัน และนอกจากนั้นก็เคยมีการโดดโดยนักโดดรัสเซียมาก่อนในการโดดสาธิตในระหว่างการแข่งขันโดดร่มชิงแชมป์เปี้ยนโลกในสมัยเก่า ๆ นอกจากนั้นก็มีการโดดโดยสาย Static Line ทางทหารด้วยการนำเอาสุนัขสงครามลงมาด้วยของทหารอเมริกัน
แต่ว่าการโดด Tandem สมัยใหม่นั้นเริ่มขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ.2520 ที่ Deland รัฐ Florida ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้นมาก็มีการพัฒนาร่มและอุปกรณ์ของ Tandem Jumping มาจนถึงปัจจุบันนี้
Tandem Jumping นั้นนอกจากการใช้ประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างมากในด้านการทหาร คือสามารถจะใช้ระบบ Tandem นี้ทำการแทรกซึมทางอากาศโดยการพาบุคคลสำคัญ (Specialist) เข้าไปยังพื้นที่ ๆ ไม่สามารถจะเข้าไปได้ด้วยวิธีอื่นใด เพื่อเข้าไปปฏิบัติภารกิจทางด้านการทหารอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีที่บุคคลสำคัญดังกล่าวไม่สามารถโดดร่มด้วยตนเองและก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปเสียเวลา, เสียงบประมาณ, เสี่ยงชีวิต เข้าไปทำการฝึกโดดด้วยตนเองด้วย
ในปัจจุบันการพัฒนาของร่ม Tandem ได้มีการออกแบบให้มีขนาดความใหญ่ถึง 3 ขนาด คือ ขนาด 360 ตารางฟุต , 421 ตารางฟุต และ 520 ตารางฟุต ซึ่งผู้ที่เป็น Tandem Master จะสามารถเลือกใช้ได้ตามแต่ภารกิจ ซึ่งส่วนมากจะขึ้นอยู่กับตัว Tandem Master เอง ว่ามีน้ำหนักเท่าใด และผู้ที่จะโดยสารไปด้วยนั้นมีน้ำหนักเท่าใดนั่นเอง สำหรับในระบบของทางทหารแล้วจำเป็นจะต้องใช้ร่ม Tandem ขนาด 520 ตารางฟุต ซึ่งเป็นร่มแบบเหลี่ยมขนาดใหญ่ที่สุด เพื่อการบรรทุกสิ่งอุปกรณ์ทางยุทธวิธีเป็นสำคัญ