ฟ้ายังฟ้าอยู่

ฟ้ายังฟ้าอยู่
ฟ้ายังดูสดใส
Freefall is one of the most exciting, adrenaline-filled experiences you're likely to ever have. The feeling is different for everyone, so check out the testimonials from people just like you, with one exceptionthey've fallen towards the earth at 120 miles per hour!

Wednesday, September 22, 2010

ครั้งแรกกับการโดดเฮลิคอปเตอร์

a20_58684621

หลังจากฝึกสำเร็จหลักสูตร “การโดดร่มแบบกระตุกเอง” จาก บก.สอ.บช.ตชด.หรือ “ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร” รับประกาศนียบัตร ไปเมื่อ 9 ส.ค. 2553 แล้ว  ผมคิดว่าคงมีโอกาสริบหรี่ที่จะได้มีโอกาสโดดร่มดิ่งพสุธาท้าทายความกล้าและความสูงอีก 

แต่แล้วโอกาสอันริบหรี่ที่ว่านั้นก็วิ่งกระโจนเข้ามาหาผมอย่างไม่คาดฝัน  เมื่อ “น้าบัง” น้าชายผมซึ่งเป็นทหารรบพิเศษ และเป็นนักกีฬาโดดร่มแบบกระตุกเอง หรือดิ่งพสุธา ของกองทัพบก ทราบข่าวว่า ผมเพิ่งฝึกสำเร็จหลักสูตร จึงโทรมาชวนไปโดดร่มดิ่งพสุธาร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทหาร  ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งมักจะมีฝึกซ้อมโดดร่มฯ กันที่นี่เป็นประจำ และในวันที่ 19 ก.ย. 2553 จะมีการฝึกซ้อมโดดร่มฯ กันอีก เพื่อไปโดดโชว์เชื่อมความสัมพันธ์กับชาวบ้านในพิธีเปิดงานแข่งขันกีฬาตำบลที่ ร.ร.บ้านมะหุด ต.ประโด อ.มายอ จ.ปัตตานี ด้วยอารามดีใจ ผมรีบตอบตกลงน้าบังไปทันทีโดยไม่ชักช้า


19 ก.ย. 2553  (แห้วรับประทาน)

ราว ๆ 9 โมงเช้า ผมขับรถไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารตามลำพัง (โทรชวนเพื่อน กับน้อง ๆ คนอื่น ๆ แล้ว ไม่มีใครว่าง) ไปถึงสนามโดด  ดีใจมากได้พบ “พี่หน่อย” กับ “พี่แจ็ค”  นายทหาร จปร. เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นพี่ผม 1 ปี  แต่เรียนเสธ ทบ.รุ่นเดียวกัน  ทักทายกันเล็กน้อยตามประสาพี่น้อง  “น้าบัง” เตรียมร่มสำหรับโดดมาให้ผมเรียบร้อยแล้ว  ผมจะได้โดดในเที่ยวบินที่ 2 

หลังจากนำร่มมาแต่งตัวเสร็จก็เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ประหม่ากล้า ๆ กลัว ๆ ขึ้นมาอย่างกระทันหัน แต่จะให้หันหลังกลับ เปลี่ยนใจไม่โดดตอนนี้ก็คงไม่ได้แล้ว (เดี๋ยวจะเสียชื่อไปถึงครูบาอาจารย์ที่ค่ายนเรศวรหมด) ในที่สุดผมก็ขึ้นโดดเที่ยวบินที่ 2 

IMG_7938
ผมกับ “น้าบัง”

เมื่อเฮลิคอปเตอร์ไต่ความสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 8,000 ฟิต สัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่ลดลงจนรู้สึกเย็นยะเยือก ขณะที่ผมกำลังจะเตรียมตัวโดด   อนิจจา !!  ฝาปิดร่มบนหลังผมดันไปเกี่ยวเข้ากับผนังของเฮลิคอปเตอร์ ทำให้สลักร่มหลุุด แพ็คร่มแตกกระเด็นออกมา  นักโดดคนอื่นโดดลงไปจนหมด เหลือผมคนเดียว ด้วยความกลัวว่าร่มจะปลิวหลุดออกไปนอกเครื่องผมเลยนั่งทับแพ็คร่มเอาไว้ เมื่อเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงถึงพื้น ผมต้องเดินลงจากเฮลิคอปเตอร์ด้วยความอดสูและเซ็งสุดขีด   

“น้าบัง” ปลอบใจผมด้วยการจัดเที่ยวบินใหม่ให้ผมขึ้นโดดอีกในเที่ยวบินที่ 5 แต่ปรากฎว่า พอเที่ยวบินที่ 4 โดดเสร็จ  นักบินลงมาแจ้งนักโดดฯ ว่า  “น้ำมันหมด”  ผมก็…อิอิ.. ^^  แห้วรับประทาน

IMG_7946
หน.หวัง (ตท.27) กำลังสรุปผลหลังการฝึกซ้อมโดดร่มในวันนี้
 

แต่โอกาสของผมยังไม่หมดเสียทีเดียว  เพราะพรุ่งนี้จะมีการโดดร่มฯ โชว์ชาวบ้านในพิธีเปิดงานแข่งขันกีฬาตำบลที่ ร.ร.บ้านมะหุด ต.ประโด อ.มายอ จ.ปัตตานี  (ผมยังลังเลใจว่าจะไปร่วมโดดฯ ดีหรือไม่)

20 ก.ย. 2553 (ครั้งแรกกับการโดดเฮลิคอปเตอร์)

เมื่อวานเกิดอาการเซ็งสุดขีดหลังจากที่ขึ้นเครื่องแล้วแต่ไม่ได้โดด วันนี้ตอนแรกกะจะไม่มาแล้ว เพราะประหม่าที่จะโดดร่มฯ ต่อหน้าคนจำนวนมาก  กลัวจะผิดพลาดท่ามกลางสายตาประชาชี แต่เมื่อวานผมดันลืมกระเป๋ากล้องถ่ายรูปไว้ทีศาลาข้างสนามโดดฯ  พี่หน่อยกรุณาเก็บไว้ให้เพราะจำได้ว่าผมใช้กระเป๋ากล้องใบนี้ตั้งแต่เป็นนักเรียนเสธ ทบ. วันนี้ก็เลยกะว่าจะมารับกระเป่ากล้องถ่ายรูปคืน   แต่ว่า ไหน ๆ ก็มาแล้วเลยชวน “เจ้าเหม่ง” นรต.61 รุ่นน้องผม แต่เรียนหลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเองรุ่นเดียวกัน มาเป็นเพื่อนด้วย (เผื่อใจเล็ก ๆ ว่าจะได้โดดฯ)

บ่ายของวันที่ 21 ก.ย. 2553  ผมขับรถไป ร.ร.บ้านมะหุด ต.ประโด อ.มายอ จ.ปัตตานี  กับ “เจ้าเหม่ง” ไปถึง ร.ร.บ้านมะหุด ก็พบกับเด็ก ๆ และชาวบ้านมาร่วมงานหลายร้อยคนวันนี้ “น้าบัง” เตรียมร่มมาให้ผมเหมือนเดิม แถมเตรียมร่มมาให้ “เจ้าเหม่ง” อีก 1 ร่มด้วย 
ผมกับเจ้าเหม่งจะได้โดดเที่ยวบินที่ 3 เที่ยวเดียวกับน้าบัง

เมือถึงเวลา นักโดดฯ เที่ยวบินแรก นั่งโดยสารมาพร้อมเฮลิคอปเตอร์จากค่ายอิงคยุทธบริหาร มาโดดลงที่สนามโดดฯ ที่ความสูง 8,000 ฟิต จากนั้น เฮลิคอปเตอร์ก็ร่อนลงมาจอดที่สนามโดดรับนักโดดฯ เที่ยวบินที่ 2 ขึ้นไปโดด

IMG_7985 
นี่แหละครับ เฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ลำนี้ ที่นำผมขึ้นไปโดดดิ่งฯ ลงมา

เมื่อถึงคิวเที่ยวบินที่ 3 นักโดดฯ เดินขึ้นเครื่องฯ ที่เพิ่งร่อนลงมา เที่ยวบินนี้มีนักโดดฯ 8 คน  ผมจะโดดลงเป็นคนที่ 7 ส่วนเจ้าเหม่งโดดคนสุดท้าย  เมื่อนักบินนำเครื่องบินขึ้น อารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกันกับเมื่อวานก็แว่บเข้ามารบกวนจิตใจผมอีกแล้ว  หัวใจเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ ตึ้ก ๆ ตั้ก ๆ มองลงไปที่พื้นข้างล่างหลังคาบ้านเล็กลงเรื่อย ๆ รู้สึกเสียววูบวาบแต่ก็พยายามข่มความรู้สึกเอาไว้

IMG_7996
นักโดดที่โดดร่วมกันในเที่ยวบินที่ 3

เมื่อเฮลิคอปเตอร์ไต่ความสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 5,000 ฟิต (ตั้งใจไว้ที่ 8,000 ฟิต) อากาศเย็นลงเรื่อย ๆ นักบินบอกว่า ความสูงพอแล้ว  นักโดดฯ กลุ่มแรกจึงจำต้องเกาะหมู่โดดลงไป 6 คน 

ผมเว้นช่วงจากนักโดดคนก่อนหน้าผมประมาณ 2 – 3 วินาที แล้วก็ตัดสินใจโดดพุ่งทะยานตามออกไปทางประตูขวา ร่างลอยละลิ่วปลิวละล่องลอยไปตามแรงเฉื่อยของความเร็วเฮลิคอปเตอร์ เคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ ผมพยายามทรงตัวอยู่ในท่า “frog” ได้อย่างมั่นคง   ในช่วง 3 – 5 วินาทีแรกที่โดดออกจาก ฮ. ร่างของผมดิ่งลงมาอย่างว่างเปล่า เหมือนไม่มีอากาศรองรับ รู้่สึกเสียววาบไปทั้งตัวเหมือนจะขาดใจ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีลมมาปะทะกับลำตัวมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จนรู้สึกได้ถึงความหนาแน่นของมวลอากาศที่รองรับอยู่บริเวณด้านล่างของร่างกาย รู้สึกได้ถึงความเร็วของการตกที่มีอัตราเร่งเพิ่มขึ้น  รู้สึกได้ถึงอะดรีนาลินที่แผ่ซ่านออกมาจนขนลุกซู่

“สวรรค์อยู่แค่เอื้อมจริง ๆ”

ผมเหลือบมองไปที่ “Altimeter” (เครื่องวัดความสูง) ที่ข้อมือซ้ายบ่อย ๆ เพราะรู้สึกระแวงว่าใกล้จะถึงพื้นดิน  เมื่อดิ่งตกลงมาถึงความสูงประมาณ 3,500 ฟิต  ผมตัดสินใจเอื้อมมือขวาไปจับ “throw away” ที่บริเวณตะโพกด้านขวาเพื่อเปิดร่ม  พร้อมกับลดมือซ้ายลงมากันที่หน้าผาก ผมดึง “throw away” ออกมาโปรยทิ้งไป แล้วกลับไปอยู่ท่า frog เหมือนเดิม พอ “throw away” รับลม เป็นร่มนำดึงร่มหลักกางเต็มที่  ทิวทัศน์อันตระการตาจากมุมสูงก็ปรากฎแก่สายตาต่อมาผมจึงบังคับร่มลงสนามโดดด้วยความปลอดภัย  

ในที่สุดตอนนี้ ผมก็รู้แล้ว ว่าการโดดเฮลิคอปเตอร์ให้ความรู้สึกอย่างไร…

Monday, September 20, 2010

การดิ่งพสุธา ทำลายสถิติโลกตลอดกาล

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5  ฉบับ 264 วันที่ 19-25 มิถุนายน พ.ศ. 2553 หน้า 42 (จากส่วนหนึ่งของ) คอลัมน์ ร้ายสาระ โดย ศิลป์ อิศเรศ
วันที่ 16 พฤศจิกายน 1959 นาวาอากาศเอกโจเซฟ คิตติงเจอร์ (Joseph Kittinger) สวมร่มชูชีพของฟรานซิสขึ้นบอลลูนยักษ์ขนาด 61 เมตร ลอยสู่ท้องฟ้าถึงระดับชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ที่ความสูงจากพื้นโลก 23 กิโลเมตรแล้วกระโดดลงมาจากบอลลูน
Joseph Kittinger
Joseph Kittinger
Joseph Kittinger (ปัจจุบัน)



Joe Kittinger jumping in 1960 from 102,800 feet, the current World Record
โจเซฟกระตุกร่มชั้นแรก สายร่มไปพันรอบคอทำให้เขาควงสว่านด้วยความเร็ว 120 รอบต่อนาที ดิ่งลงสู่พื้นโลกอย่างรวดเร็วและเขาก็หมดสติหลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที แต่โชคดีที่ระบบกางร่มอัตโนมัติทำงานได้อย่างไม่มีที่ติ ร่มชูชีพหลักชั้นที่ 2 กระตุกออกเมื่อร่างของโจเซฟตกลงมาที่ความสูง 10,000 เมตร
Joseph Kittinger
โจเซฟกลับไปพักรักษาตัว 3 สัปดาห์แล้วขอลองใหม่อีกครั้ง คราวที่แล้วเขากระตุกร่มเร็วเกินไป แต่คราวนี้เขารอให้ร่างตกลงมาที่ระดับความสูง 17,000 เมตรจึงค่อยกระตุกร่มและทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี แต่นั่นยังไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเครื่องบินรบรุ่นใหม่ ๆ บินสูงกว่านั้นมาก
Joseph Kittinger
การทดลองครั้งที่ 3 มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1960 โจเซฟนำบอลลูนขึ้นไปที่ระดับความสูง 31 กม.แล้วกระโดดลงมา เขาปล่อยให้ร่างร่วงลงสู่พื้นโลกนาน 4 นาที 36 วินาที ทำความเร็วในการตกถึง 988 กม./ชม. ก่อนที่จะกระตุกร่มชั้นแรกและเมื่อเขาร่วงลงมาที่ระดับความสูง 5,330 เมตรจึงค่อยกระตุกร่มหลักลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย รวมเวลาที่ลอยอยู่กลางอากาศ 13 นาที 45 วินาที โจเซฟกลายเป็นนักดิ่งพสุธาที่กระโดดลงจากระดับความสูงที่สุดในโลกจนแม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถทำลายสถิตินี้ได้

ปัจจุบันสถิติโลกนี้ถูกทำลายลงไปแล้ว

Saturday, September 18, 2010

ด่านที่สอง: ฝึกปฏิบัติภาคพื้นดิน

IMG_4431

ช่วงเช้าของวันแรกหลังจากพิธีเปิดหลักสูตร มีการเรียนภาคทฤษฎี  นักเรียนฯ ได้เข้าห้องเรียน ฟังครูฝึกบรรยายถึงประวัติและความเป็นมาของการโดดร่มแบบกระตุกเอง การโดดออกจากเครื่องบิน ท่าทางการทรงตัวในอากาศ  หลัก aero dynamic  การพับร่ม การใช้ร่มช่วย (reserv) และการบังคับร่มเหลี่ยม ฯลฯ แล้ว ในตอนบ่ายและวันต่อ ๆ ไปนักเรียนฯ จะต้องออกไปฝึกปฏิบัติกลางแจ้ง


“สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ”

การจะทำอะไรให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์จะต้องลงมือปฏิบัติจริงจึงจะเกิดทักษะและความชำนาญ  การฝึกโดดร่มแบบกระตุกเองก็เช่นเดียวกัน ระยะเวลา 1 สัปดาห์ นักเรียนฯ จะต้องผ่านการฝึกตามสถานีต่าง ๆ ตามมาตรฐานการฝึกเพื่อสร้างความชำนาญ ความมั่นใจ สามารถเอาชนะตัวเอง เอาชนะความกลัว เอาชนะอารมณ์ความรู้สึก และความไม่รู้ที่เราจะต้องเผชิญ  เพราะเมื่อเท้าพ้นออกจากอากาศยานไปแล้ว นักโดดแต่ละคนมีตัวเองเป็นที่พึ่งแห่งตน เมื่อยามคับขัน คนอื่นไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย

การฝึกปฏิบัติภาคพื้นดิน นักเรียนฯ จะได้รับการฝึกจากครูฝึกตามสถานีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

สถานีฝึกท่าทางการทรงตัวในอากาศ และฝึกแดะบนถังน้ำมัน

หากเป็นประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เมื่อนักเรียนฯ ได้เรียนรู้ท่าทางการทรงตัวในอากาศแล้ว จะได้ฝึกทักษะการทรงตัว และฝึกปฏิบัติท่าทางที่ถูกต้องใน Wind Tunel  แต่เนื่องจาก Wind Tunel นั้นมีราคาแพงมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีงบประมาณพอที่จะสนับสนุนในการสร้าง Wind Tunel สำหรับฝึกนักเรียนฯ ได้  ครูฝึกค่ายนเรศวรจึงคิดค้น Wind Tunel แบบง่าย ๆ สไตล์ค่ายนเรศวรให้นักเรียนฯ ได้ฝึกทักษะการทรงตัวในอากาศแทนการฝึกใน Wind Tunel

skydivingนี่แหละครับ Wind Tunel ของพวกเรา ^^

skydivingต้องทรงตัวอยู่บนถังให้ได้

skydivingการทรงตัว ท่ามาตรฐาน frog บนถังน้ำมัน

สถานีฝึกการบังคับร่มเหลี่ยม

skydiving

การตรวจร่มเหลี่ยม (เปิดร่ม)  (เป็นสิ่งที่นักเรียนฯ ทุกนายจะต้องท่องจำให้ขึ้นใจ)

  1. เปิดร่มตรวจดู cell ทุก cell ทุกช่องว่ากางเต็มที่ทุกช่องหรือไม่
  2. ตรวจดู slider (แผ่นชะลอการกางของร่ม) ว่าเลื่อนลงมายังจุดรวมสายหรือไม่ ถ้า cell ไม่กินลม แผ่น slider ไม่ลง ให้ปฏิบัติตามข้อ 3
  3. ให้ดึงสาย risers คู่หลัง ดึงลงมาให้สุดแล้วปล่อยหลาย ๆ ครั้งจนลง
  4. ดึงสาย risers เส้นใดเส้นหนึ่งให้หันหน้าทวนลม
  5. ดูร่มข้างเคียง ซ้าย – ขวา  หน้า – หลัง แล้วฉีกแผ่น slider
  6. ปลดล็อกเบรค
  7. ปลดสายบังคับลงมา ฝึกหัดเลี้ยว ซ้าย – ขวา  แคบ – กว้าง  จุดหยุด จุด stall
  8. หาสนาม คำนวณความเร็วของลม  กะระยะ หันหน้าทวนลมเพื่อเตรียมตัวลงพื้น
  9. ห้ามกลับร่มต่ำกว่า 300 ฟุต
  10. เปิดร่ม ล็อกเบรกด้านใดด้านหนึ่งหลุดให้ดึงสายบังคับด้านที่ไม่หลุดลงมาให้ร่มหยุดแล้วปฏิบัติตามข้อ 1 ใหม่

หมายเหตุ: เปิดร่ม สายบังคับ “ขาด” ด้านใดด้านหนึ่ง ให้ปลดด้านที่ไม่ขาดให้หลุดแล้วใช้สาย risers บังคับแทน

สถานีฝึก บ.จำลอง

skydiving สถานีฝึก บ.จำลอง ฝึกการปฏิบัติขณะอยู่บนอากาศยานก่อนจะโดดออกมา

skydivingราวเหล็กไว้สำหรับพยุงตัวก่อนโดดด้วยท่าพื้นฐาน back down

skydivingเมื่ออากาศยานบินใกล้จะถึง drop zone (dz) jump master จะสั่ง get ready เพื่อให้นักโดดมีความพร้อมในการปฏิบัติ

skydivingเมื่อสั่ง stand up  นักโดดก็จะลุกขึ้นยืน

skydivingจากนั้น jump master จะสั่ง standby นักโดดคนที่ 1 สืบเท้าขวาถึง lamp ท้าย มือขวาจับที่ราวแล้วหมุนตัว 180 องศา หันหน้าเข้าหาตัวเครื่อง มือซ้ายจับราว พร้อมกับจัดท่ายืนโดยให้ส้นเท้ายื่นออกนอกขอบท้าย lamp ออกมา 1 ใน 3 ของเท้า

skydivingเมื่อ jump master สั่ง ready นักโดดย่อเข่าลงเล็กน้อยเพื่อเตรียมสปริงตัวโดด

skydiving เมื่อ jump master สั่ง go !! นักโดดก็จะสปริงตัวแดะไปข้างหลังในท่า back down

สถานีฝึกพับร่ม

การโดดร่มแบบกระตุกเอง นักโดดจะต้องพับร่มของตัวเอง จะไว้ใจให้คนอื่นมาพับให้ก็กระไรอยู่ ร่มจะกางหรือไม่กางอยู่ที่การพบร่มด้วยส่วนหนึ่ง  เพราะฉะนั้น สถานีนี้ทุกคนจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ

IMG_3958  ครูฝึกสอนการพับร่ม

IMG_4727 พับเอง โดดเอง

skydiving ร่มพับเสร็จแล้ว พร้อมโดด

สถานีฝึกล้มตัว

ความจริงหากบังคับร่มได้อย่างถูกต้อง  เมื่อถึงพื้นดินนักโดดสามมารถที่จะเดินหรือวิ่งไปตามความเร็วของร่มได้  แต่ครูฝึกให้นักเรียนฯ ทบทวนการฝึกล้มตัวเล็กน้อยเพื่อสร้างความมั่นใจขณะลงพื้นมากยิ่งขึ้น

skydivingขณะบังคับร่มลงพื้น
  skydiving  งอเข่า เบี่ยงตัวให้แรงผ่อนออกไปทางข้างลำตัว

skydivingผ่อนให้แรงตกกระทบไล่จากน่องไปตามท่อนขาตามลำดับ

สถานีฝึกโดดหอ

การฝึกโดดหอเป็นสถานีที่ครูฝึกใช้ในการตรวจสอบท่าทางการโดด และการทรงตัวของนักเรียน หลังจากที่ผ่านการฝึกท่ามาตรฐานต่าง ๆ มาแล้ว ก่อนที่จะขึ้นโดดจริงจากเครื่องบิน  บางคนโดดไม่กี่ครั้งก็ผ่าน  แต่หลายคนโดดแล้วโดดอีกนับสิบ ๆ ครั้ง จนได้รับฉายาว่า
“ปู่หอ” หรือ “ย่าหอ”

skydivingหอสูง 34 ฟุต

skydiving ก่อนโดด  ครูฝึกสั่ง standby… (นักโดดเตรียมตัว)

skydivingครูฝึกสั่ง ready… (นักโดดย่อเข่าเล็กน้อย เพื่อสปริงตัว)

skydivingครูฝึกสั่ง go !! (นักโดดสปริงตัวโดดออกไปด้านหลัง)

skydivingนับถ่วงเวลา…   one thousand.. two thousand.. (มือขวาตบ toggle เพื่อเตรียมเปิดร่ม)

skydivingthree thousand.. (ดึง toggle กลับไปอยู่ท่าเดิม แล้วนับต่อ)

skydivingfour thousand.. five thousand.. check canopy…(ตรวจสอบว่าร่มกางหรือไม่)

ฯลฯ

โดยปกติ หลักสูตรการโดดร่มเองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้เวลาฝึกภาคพื้นดินเพียง 1 สัปดาห์  หลังจบการฝึกภาคพื้นดิน 1 สัปดาห์แรก  สัปดาห์ถัดไป พวกเรากระเหี้ยนกระหือรืออยากที่จะโดดเร็ว ๆ แต่ปรากฎว่า รุ่นของผมเกิดปัญหาอุปสรรคในการโดดเล็กน้อย คือ บ.สกายแวน ซึ่งเป็นอากาศยานที่จะใช้ในการโดดถึงวงรอบที่จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ล้อยาง  แต่ล้อยางที่จะเปลี่ยนต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ  ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการรอนำเข้าอะไหล่ล้อยางอีก  ยังไม่ทราบกำหนดว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ จำเป็นต้องขยายระยะเวลาฝึกภาคพื้นดินเพิ่มขึ้นอีก 2 สัปดาห์ กลายเป็น 3 สัปดาห์  คราวนี้ ความรู้สึกกระเหี้ยนกระหือที่จะโดดยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นอีกหลายเท่า

Monday, September 13, 2010

ประวัติการโดดร่มแบบกระตุกเอง และการโดดร่มแบบกระตุกเองทางทหาร

ขอขอบคุณ พ.ต.อ.ไวทยวัฒน์ บุญชูวิทย์ ผกก.ฝอ.บก.สอ.บช.ตชด.
(ภาพประกอบโดยเจ้าของบล็อก)


การโดดร่มแบบกระตุกเองเริ่มจากในต่างประเทศ คือ เมื่อ พ.ศ. 2454 นักกายกรรมชาว อเมริกันชื่อ Grant Morton ได้แสดงความกล้าหาญต่อหน้าผู้ชมจำนวนมากมาย ด้วยการอุ้มร่มผ้าไหมที่พับไว้อย่างเรียบร้อยแล้วกระโดดออกมาจากเครื่องบิน Wright Model E. แล้วปล่อยให้ร่มกางออกรับลม เขาลอยลงสู่พื้นได้อย่างปลอดภัยที่หาดเวนิส แคลิฟอเนีย ประเทศสหรัฐ ซึ่งอาจถือได้ว่าบุคคลผู้นี้เป็นคนแรกที่กระโดดร่มประเภทนี้



แต่บุคคลแรกที่กระโดดร่มแบบกระตุกเอง ประสพผลสำเร็จอย่างแท้จริงนั้น ซึ่งได้มีการทดลองอย่างจริงจัง เมื่อ 28 เม.ย. 2462 โดย MR. Leslie Irvin ชาวอเมริกัน ที่สนามโดด MC Cook เมือง Dayton รัฐ OHIO ประเทศสหรัฐ ฯ

Irvin กระโดดจากเครื่องบินที่ความสูง 1,500 ฟุตแล้วดึงร่มด้วยห่วงดึง ทำให้ร่มกางทันทีโดยไม่มีการถ่วงเวลาแต่อย่างใด ขณะลงพื้นข้อเท้าแตก ถือได้ว่าการทดลองประสพความสำเร็จ



ส่วนการโดดร่มแบบกระตุกเอง ที่มีการถ่วงเวลาเป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นจาก อุบัติเหตุการสละเครื่องบินของ ร.ท. ฮาร์โรลด์ อาร์ แฮริส (LT.Harold R.Harris)
เมื่อ 22 ต.ค. 2465 ร.ท. ฮาร์โรลด์ ได้กระโดดสละเครื่องบินที่ความสูง 2,500 ฟุต แต่เกิดปัญหายุ่งยากในการหาห่วงดึงร่ม

จนกระทั่งดิ่งลงมากระตุกห่วงดึงร่มให้ร่มกางได้ที่ระยะความสูง 500 ฟุต ก่อนถึงพื้นดิน เท่ากับเขาได้ถ่วงเวลาก่อนดึงร่มให้กางได้ถึงประมาณ 15 วินาที โดยไม่ได้ตั้งใจ

ซึ่งเท่าที่กล่าวข้างต้นนั้น การกระโดดร่มแบบกระตุกเอง (Free Fall ) นั้นยัง ไม่มีท่าทางการโดดเป็นกิจจะลักษณะ แล้วแต่จะตกลงมาท่าใดก็ได้
Lt.Harold Harris
สำหรับท่าทางการทรงตัว ระหว่างโดดลงมาก่อนดึงร่มให้กางนั้น เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดย Floyd Smith ชาวอเมริกัน ได้เขียนเรื่องลงในนิตยสาร เกี่ยวกับเรื่องแนวทางและวิธีการทรงตัวในอากาศ ขณะที่มนุษย์ดึงถ่วงเวลาลงมา ก่อนที่จะกระตุกร่มให้กาง อันเป็นเทคนิคพื้นฐานที่สำคัญ ที่เป็นประโยชน์ในการกระโดดร่มแบบกระตุกเองอยู่ในทุกวันนี้
ต่อมาชาวฝรั่งเศส ก็ได้นำการกระโดดร่มมาเป็นการกีฬา ในปี พ.ศ. 2492 ได้ก่อตั้งสมาคมขึ้นถึง 10 สมาคมทั่วประเทศ อีกทั้งยังค้นพบวิธีแก้ไขท่าทางการทรงตัวในอากาศได้อย่างสมบูรณ์

เทคนิคและวิธีการต่างๆ ของการโดดร่มประเภทนี้ ได้นำเข้าสู่สหรัฐอีกใน ปี พ.ศ. 2498 โดย MR.Jacques A Istel ซึ่งภายหลังที่เขาได้สังเกตุการณ์ และได้พบความเห็นความวิเศษสุด ของการโดดร่มในฝรั่งเศสมาแล้ว เขาได้ติดต่อและฝึก ให้กับทีมโดดร่มกีฬาทีมแรกของสหรัฐ ในการเข้าร่วมแข่งขันนานาชาติ และเขายังได้รับเชิญจาก ทบ.สหรัฐ ให้เป็นกรรมการคัดเลือก และฝึกสอนทหารพลร่มหน่วยรบพิเศษที่ 77
ฟอร์ทแบลค เอ็น.ซี. ถึงเทคนิคในการโดดร่มแบบกระตุกเอง ในปี พ.ศ. 2500
James Floyd Smith


ทบ.สหรัฐได้พิจารณาการฝึกโดดร่มแบบกระตุกเอง จากการกีฬาให้เป็นทางทหารโดยจัดตั้งทีมที่ FT. Bragg N.C. ประมาณปี พ.ศ. 2503 เพื่อฝึกกระโดดในระยะสูงขั้นใช้อ๊อกซิเจน ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกชุดแรกนี้ ต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการใช้อ๊อกซิเจน ที่ฐานทัพอากาศโอไฮโอ มีการศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับการขาดอ๊อกซิเจน การทดลองหาอัตราตกที่แน่นอนในระยะสูง ๆ


และในปีเดียวกันนี้ สมาชิกจำนวนหนึ่งของ ทบ.สหรัฐ ได้สาธิต การกระโดดร่มแทรกซึมทางอากาศชั้นสูงที่สุด ในสมัยนั้นเป็นครั้งแรก สูงถึง 30,000 ฟุต โดยใช้อ๊อกซิเจน และประกอบสิ่งอุปกรณ์ด้วย นับว่าเป็นการพัฒนาการกระโดดร่มแทรกซึมทางอากาศชั้นสูง (HALO) และเมื่อ 16 ธ.ค. 2506 สมาชิกทีมโดดร่ม HALO ของทีม ทบ.และ ทอ.สหรัฐ จำนวน 14 คน ได้ทำสถิติโดดในการโดดร่มประเภทนี้อีกครั้ง ที่สนามโดดเอลเซนโตร แคลิฟอเนีย ความสูง 43,500 ฟุต โดยนักโดด HALO ทุก ๆ คนปลอดภัย

Saturday, September 11, 2010

ด่านแรก: รายงานตัว เรียนภาคทฤษฎี

 Copy of P2230872

การโดดร่มแบบกระตุกเอง หรือ การดิ่งพสุธา (free fall, skydiving)

ก่อนที่จะมาสมัครเป็นนักเรียนโดดร่มฯ เพื่อน ๆ ผมหลายคนและรุ่นพี่ ๆ พูดเป็นนัยขำ ๆ ว่า  “หลักสูตรนี้ ฝึกสบาย  ไปเช้า เย็นกลับ”  ผมฟังแล้วก็รู้สึกตะหงิด ๆ ในใจก็พลางคิดว่า “มันจะเป็นไปได้อย่างไร” ที่การฝึกจะสบายเอาขนาดนั้น ได้แต่เก็บความสงสัยเอาไว้ในใจ…


DSC00300

พิธีเปิดหลักสูตร

28 มิ.ย. 2553 เวลา 09.00 น.  พิธีเปิดหลักสูตร การแต่งกายชุดฝึกของหน่วยต้นสังกัด  หลังจากพิธีเปิดหลักสูตรโดยท่าน ผบก.สอ.บช.ตชด.ผ่านไปเรี่ยบร้อยแล้ว  พ.ต.ท.รังสรรค์ เนตรเกื้อกิจ ผบ.ร้อย สกอ. กก.4 บก.สอ.บช.ตชด. ซึ่งเป็นผู้บังคับกองร้อยฝึกส่งกำลังทางอากาศ ได้เข้ามาแนะนำตัว แนะนำหลักสูตร แนะนำครูฝึกให้พวกเราได้รู้จัก และได้ให้นักเรียนฯ แต่ละคนแนะนำตัวเอง พร้อมกับเหตุผลในการสมัครใจมาฝึก (พ.ต.ท.รังสรรค์ฯ เป็นเพื่อนร่วมรุ่น นรต.51 ของผม  แต่ตอนนี้ เพื่อนทำหน้าที่เปรียบเสมือนครูใหญ่ของการฝึก)

พ.ต.ท.รังสรรค์ เนตรเกื้อกิจ

พ.ต.ท.รังสรรค์ เนตรเกื้อกิจ ผบ.ร้อย สกอ. กก.4 บก.สอ.บช.ตชด.

ครูฝึกแจกเสื้อยืดสีดำแขนยาว คอเต่าปิดคอจนถึงบริเวณใต้คาง ด้านหน้าสกรีนเป็นรูปปีกร่มชั้นพิเศษ (ปีกร่มดาวดำ) มีข้อความ “หลักสูตรการฝึกโดดร่มแบบกระตุกเอง ค่ายนเรศวร รุ่นที่ 1/53” คนละ 2 ตัว ซึ่งแต่ละคนได้แจ้งขนาดเสื้อไว้ตั้งแต่ก่อนเข้ารับการฝึกแล้ว  เสื้อทุกตัวมีหมายเลขประจำตัวของแต่ละคน ไม่ซ้ำกัน  ส่วนกางเกง เป็นกางเกงวอร์มสีเลือดหมู คาดขาว  สวมรองเท้าคอมแบตไม่มีซิป นี่คือเครื่องแบบของนักเรียนโดดร่มแบบกระตุกเองของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร  พวกเราจะต้องแต่งเครื่องแบบชุดนี้ตลอดการฝึกจนจบหลักสูตร

DSC00331

เครื่องแบบนักเรียนโดดร่มแบบกระตุกเอง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะไม่มีการเรียกยศ กับชื่อจริงในระหว่างการฝึกอีก  นักเรียนฯ ทุกนายจะถูกครูฝึกเรียกขานนามใหม่ตามรหัสที่ได้รับ  ไล่ไปตั้งแต่คนแรก “sky01” ไปจนถึงคนสุดท้าย คือ “sky30” ผมได้รับเสื้อที่มีรหัสว่า “sky01” ซึ่งหมายความว่า  ต่อไปนี้จะต้องทำหน้าที่เป็นทั้งประธานรุ่น เป็นทั้งพี่ใหญ่คอยดูแลเพื่อนร่วมรุ่น และน้อง ๆ ซึ่งมีทั้งข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร และชั้นประทวนจนสำเร็จหลักสูตร  หากจะรายงานตัวต่อครูฝึกในโอกาสต่าง ๆ  ผมจะต้องรายงานตัวว่า “กระผม นักเรียนโดดร่มแบบกระตุกเอง ศุภชัช sky01 ครับ” 

นักเรียนฯ จะได้รับการฝึกภาคพื้นดินและทฤษฎีเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ (ผมคิดในใจ เหนื่อยแค่สัปดาห์เดียวเอง สบายกว่าหลักสูตรมนุษย์กบ หรือว่าหลักสูตรอื่น ๆ เยอะ ^^แถม “ไปเช้าเย็นกลับ” อีกด้วย…)

หลังพิธีเปิด ช่วงสาย ๆ นักเรียนฯ ทุกนายเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็น เสื้อยืดสีดำคอเต่าแขนยาว กางเกงวอร์มสีเลือดหมู รองเท้าคอมแบต  เข้าห้องเรียน ก่อนเที่ยงวันนี้ เรียนภาคทฤษฎี

เนื้อหาการสอนภาคทฤษฎี  ครูฝึกพูดถึง ประวัติและความเป็นมาของการโดดร่มแบบกระตุกเอง ท่าทางการโดดออกจากเครื่องบิน ท่าทางการทรงตัวในอากาศ  aero dynamic  การพับร่ม การใช้ร่มช่วย (reserv) และการบังคับร่มเหลี่ยม ฯลฯ

IMG_3972

วิ่งออกกำลังกาย ก่อนเริ่มการฝึก และหลังเสร็จการฝึกในแต่ละวัน

ช่วงบ่ายของวันนี้ เรียนภาคทฤษฎีต่ออีกนิดหน่อย  จากนั้นเป็นการฝึกท่าทางเบสิคของการโดดร่มแบบกระตุกเอง  ส่วนวันต่อ ๆ ไป จะเป็นการฝึกตามสถานีต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป  นอกจากนี้ นักเรียนฯ ชาย 24 นาย  ทุกนายต้องตัดผมเกรียนติดหนังศีรษะ (จริง ๆ แล้ว “โล้น” เลยเชียวแหละ^^) ส่วนนักเรียนฯ หญิง 6 นาย ตัดสั้นตามมาตรฐานตำรวจพลร่มหญิง แห่งค่ายนเรศวร

ตอนเย็น ครูฝึกปล่อยกลับบ้านตอนเวลาประมาณ  16.00 น. – 17.00 น. ส่วนวันรุ่งขึ้นนัดให้มาพร้อมกันเวลาประมาณ 06.30 น.  (ไปเช้า - เย็นกลับจริง ๆ ^^) และคงจะเป็นแบบนี้ไปจนกว่าจะสำเร็จหลักสูตร

SkydiveChicago001

ความใฝ่ฝันของนักเรียนฯ

การฝึกเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อย ในขณะที่นักเรียนฯ ทุกนายต่างมีความมุ่งมั่นที่จะฝ่าฟันไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง

ก่อนจะติดปีกบิน เหิรเวหา

 

IMG_2096
เมื่อยังเป็นเด็ก ผมเคยฝันเฟื่องตามประสาเด็กว่าอยากบินได้เหมือนอย่างนก มีอิสระเสรีที่จะโผผินบินไปได้ทุกที่ตามที่ใจปรารถนา

วันนี้ แม้ผมจะยังไม่สามารถบินได้อย่างนก แต่ผมก็กล้าที่จะโผบินออกมาจากอากาศยานออกมาล่องลอยอยู่กลางอากาศได้อย่างนก   เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “นักเรียนโดดร่มแบบกระตุกเอง (Skydiving) รุ่นที่ 1/2553”  หรือที่เรียกกันว่า “การโดดร่มดิ่งพสุธา” ของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน


หลักสูตรนี้ เป็นการฝึกเตรียมคนในการปฏิบัติการทางทหาร ส่งกำลังแทรกซึมเข้าหลังแนวข้าศึก เพื่อรักษาอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศชาติ อันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น เมื่อสหรัฐอเมริกา เข้ามามีบทบาทสนับสนุนทั้งกำลังคน อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณ ก่อตั้งหน่วยพิเศษ “ตำรวจพลร่ม” ขึ้นมารบแบบกองโจร เพื่อใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการต้านยันการรุกคืบของระบอบคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโนในอดีต

ปัจจุบัน การปฏิบัติการทางทหารประเภทนี้ ได้มีการพัฒนามาอย่างยาวนานและต่อเนื่องจนกลายเป็นกีฬาที่ท้าทายความสามารถ และแพร่หลายไปทั่วโลก

โดยปกติแล้ว การฝึกหลักสูตร Sky diving ของตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร นั้น ใช้ระยะเวลาในการฝึก 4 อาทิตย์ แต่ละรุ่นมีผู้เข้ารับการฝึกประมาณ 30 คน  อาทิตย์แรก เป็นการฝึกภาคทฤษฎีและภาคพื้นดิน  ส่วนที่เหลืออีก 3 อาทิตย์ โดดร่ม ฝึกภาคอากาศ

IMG_2015

ผมโชคดีที่ได้ผ่านการทดสอบพละกำลังของร่างกาย และสอบข้อเขียนจนได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรมในหลักสูตร อีกทั้งยังได้รับเกียรติจากครูฝึก เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ร่วมรุ่นให้เป็นประธานรุ่น…

30 ชีวิต  เราจะกอดคอก้าวเดินไปด้วยกัน และจะคว้า “ปีกร่มดาวดำ” มาประดับให้สำเร็จ…

Wednesday, September 8, 2010

Baby of Skydiving

ผมดั้นด้นเดินทางมาฝึกหลักสูตร skydiving ที่ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้เดือนเศษแล้ว  เหลืออีกเพียงสัปดาห์เดียวก็จะฝึกสำเร็จตามหลักสูตร ได้รับประกาศนียบัตร และมีสิทธิที่จะประดับปีกเครื่องหมายนักโดดร่มชั้นพิเศษ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เรียกกันติดปากว่า “ปีกร่มดาวดำ” ที่เครื่องแบบบริเวณหน้าอกด้านซ้ายเหนือแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 
 
skydiving

การโดด skydiving ครั้งที่ 11 เมื่อวันพุธ ที่ 28 ก.ค. 2553 ที่ความสูง 4,000 ฟิต

 
การฝึกอันเข้มข้นที่ผ่านมาเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 28 มิ.ย. 2553  เรื่อยมาจนถึงวันศุกร์ที่ 30 ก.ค. 2553  ผมและเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันรวม 30 ชีวิต ได้ผ่านการฝึกทั้งภาคทฤษฎี  ภาคพื้นดิน และโดด skydiving มาแล้วจำนวน  13 - 14 ครั้ง  การฝึกทวีความเข้มข้น ยากและอันตรายมากยิ่งขึ้นตามลำดับ
 
ถึงจะกลัวอันตราย และความสูงมากแค่ไหน  แต่ผมก็หันหลังกลับไปไม่ได้อีกแล้ว  มีทางเดียวคือต้องมุ่งหน้าเดินต่อไป และเข้ารับการฝึกจนสำเร็จหลักสูตร…

ผมจะบิน…

free-fall-heaven
ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึง 23 กรกฎาคม 2553 ที่จะถึงนี้ ผมจะได้มีโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตไปฝึกโดดร่มแบบกระตุกเอง (free fall, skydiving) รุ่นที่ 1/2553 ของตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร (กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน) ซึ่งมีสถานที่ตั้งอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ระยะเวลาการฝึกประมาณ 4 อาทิตย์  อาทิตย์แรกฝึกภาคพื้นดิน  อาทิตย์ถัดไปจนจบหลักสูตรโดดจริงจากเครื่องบิน ประมาณ 35 ครั้ง

หลังจากฝึกสำเร็จหลักสูตร เดือนหน้า คงมีเรื่องราวสนุกปนเสียวมาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังกัน…