ฟ้ายังฟ้าอยู่
About Me
Thursday, October 7, 2010
Advance โดดดิ่งพสุธา เกาะหมู่ 8,000 – 10,000 ฟิต
โดดดิ่งพสุธา 6,000 ฟิต (ถ่วงเวลา 15 วินาที)
Head down 6,000 ฟิต (คนที่ 5)
Head out 6,000 ฟิต (คนที่ 3)
Wednesday, October 6, 2010
โดดดิ่งพสุธา 5,000 ฟิต (ถ่วงเวลา 10 วินาที)
หลังจากผ่านการโดดที่ความสูง 4,000 ฟิต ถ่วงเวลา 5 วินาทีมาแล้ว ในเช้าของวันที่ 30 ก.ค. 2553 ผมจะได้ขยับขึ้นไปโดดที่ความสูง 5,000 ฟิต ถ่วงเวลาเปิดร่ม 10 วินาที
โดดคนแรก ที่ความสูง 5,000 ฟิต
โดดคนที่ 7 ที่ความสูง 5,000 ฟิต
ครูฝึก 2 ท่าน
โดดดิ่งพสุธา 4,000 ฟิต (ถ่วงเวลา 5 วินาที)
วัน เวลา ทำให้เรารู้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นเมื่อวัน เดือน ปีใด เหตุการณ์ใดเกิดก่อน หลัง เหตุการณ์ที่เกิดขิ้นหรือดำเนินอยู่ในช่วงเวลาที่ต่างกัน มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
และวัน เวลาที่ผ่านไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
แต่คนเรามักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเวลา…
อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรยากเกินความเพียรพยายาม ในที่สุด ผมทำได้ ทุก ๆ คนทำได้ ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ผมได้รู้ซึ้งถึงคุณค่าของเวลาอันน้อยนิดก็คราวนี้นี่เอง
Tuesday, October 5, 2010
โดดดิ่งพสุธา 4,000 ฟิต (ถ่วงเวลา 3 วินาที)
หลังจากโดดร่มต่อสาย Static Line ที่ความสูง 3,000 ฟิต มาแล้ว 2 วันรวม 5 ครั้ง ได้ดาวมาครบ 5 ดวง ในที่สุดผมก็ผ่านการฝึกอีกขั้นหนึ่ง ถึงเวลาที่จะได้โดดร่มดิ่งพสุธา (Free Fall, Skydiving) โดยการเปิดร่มด้วยตัวเองจริง ๆ เสียที
คืนก่อนโดดตัดสาย ผมนอนไม่หลับ นอนกระสับกระส่ายพลิกไปพลิกมา วิตกจริต ผวาคิดแต่เรื่อง “โดดร่มตัดสาย” ตลอดทั้งคืน รู้สึกตัวตื่นขึ้นมาตอนดึกหลายรอบ “จเร” เพื่อนรักของผมที่นอนอยู่ใกล้ ๆ กัน ก็มีอาการไม่ต่างกัน ความรู้สึกกลัวกับความไม่รู้ กลัวสิ่งที่มองไม่เห็นมันมีอานุภาพรุนแรงทีเดียว (เพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนด้วยกันก็มีอาการเหมือนกันทุกคน)
ตอนบ่ายของวันที่ 22 ก.ค. 2553 เที่ยวบินที่ 3 ของวันนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้โดดตัดสาย ด้วยการดิ่งตกลงมาจากอากาศยานโดยไม่มีสาย Static Line และต้องเปิดร่มด้วยตัวเอง ซึ่งก็หมายถึง หากลืมเปิดร่ม หรือโดดลงมาโดยที่ไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ของตัวเองได้ ก็คงต้องลงไปนอนแอ้งแม้งอยู่กลางสนามโดดแน่นอน
โดดตัดสาย Static Line ครั้งแรก (โดดคนแรก) ที่ความสูง 4,000 ฟิต
ความสูงที่ผมจะได้โดดขยับจากเดิม 3,000 ฟิต ขึ้นไปโดดที่ความสูง 4,000 ฟิต ถ่วงเวลาเปิดร่ม 3 วินาที ความสูงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้รู้สึกกลัวเลยครับ แต่ในทางกลับกันยิ่งทำให้มีความรู้สึกว่าปลอดภัยมากขึ้น เพราะหากเกิดอุบัติเหตุร่มไม่กาง หรือกางไม่สมบูรณ์ ผมจะมีเวลาเพิ่มขึ้นจากความสูงที่เพิ่มขึ้นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการดึงร่มช่วย หรือร่มสำรอง (reserv) ได้อย่างทันท่วงที
โดดตัดสาย Static Line ครั้งที่ 2 (โดดคนที่ 3) ที่ความสูง 4,000 ฟิต
นักเรียนฯ ต้องโดดตัดสาย Static Line ที่ความสูง 4,000 ฟิต ถ่วงเวลา 3 วินาที จำนวน 2 ครั้ง หากสอบผ่านก็จะได้ขยับไปโดดที่ความสูงเท่าเดิมแต่ถ่วงเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 5 วินาที
ถึงแม้จะโดดไป เสียวไป แต่ในที่สุดผมก็โดดผ่านทั้งสองครั้ง จะได้ขยับไปโดดที่ความสูง 4,000 ฟิต (เท่าเดิม) ถ่วงเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 5 วินาทีในที่สุด
Monday, October 4, 2010
โดดครั้งแรก ต่อสาย Static Line (ตอนที่ 2)
เพราะ หาก “ลืมเปิดร่ม” นั่นก็หมายถึง ในโอกาสต่อไปหากนักโดดฯ โดดออกจากอากาศยานลงไปโดยไม่มีสาย Static Line นักโดดฯ ก็จะลืมเปิดร่มแล้วดิ่งตกถึงพื้นดินตัวเปล่านอนแอ้งแม้งอยู่บนสนามโดดร่มโดยที่ร่มไม่กางนั่นเอง
การโดดแต่ละครั้ง หากโดดรักษาท่าทางได้ถูกต้อง ครูฝึกจะให้ดาวครั้งละ 1 ดวง เขียนโชว์ขึ้นบนไวท์บอร์ด หากไม่ผ่านก็จะไม่ได้ดาว หลาย ๆ คนจึงต้องโดดมากกว่า 5 ครั้ง เพื่อให้ได้ดาวครบ 5 ดวง บางคนใกล้จะจบหลักสูตรแล้ว แต่ยังได้ดาวไม่ครบ 5 ครั้ง ซึ่งอาจหมายถึง “ไม่สำเร็จหลักสูตร”
เมื่อได้ดาวครบ 5 ดวง โดยสามารถปฏิบัติท่าทางได้ครบถ้วนตามที่ฝึกมา ก็แสดงว่า นักเรียนฯ มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สามารถควบคุมตนเองได้ และมีความพร้อมแล้ว ในที่สุด ครูฝึกก็จะไว้วางใจให้นักเรียนผ่านการฝึกไปยังขั้นตอนต่อไป คือ “การโดดตัดสาย” โดยเพิ่มความสูงเป็น 4,000 ฟิต ถ่วงเวลาเปิดร่มด้วยตนเอง 3 วินาที
กว่าจะผ่านด่านการโดดต่อสาย Static Line ไปได้ เล่นเอาพวกเรานอนไม่หลับ จับไข้หัวโกร๋น เนื่องจากความเครียดความวิตกกังวลต่อเนื่องกันมาหลายวัน เวลานอนหลับก็ตื่นผวาขึ้นมาตอนกลางดึกหลาย ๆ รอบ บางคนถึงกับนอนละเมอ ความรู้สึกเหล่านี้ คือการกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง มองไม่เห็น คล้าย ๆ กับกลัวความมืด กลัวความไม่รู้ หากผ่านด่านการโดดตัดสายครั้งแรกไปได้ ก็เปรียบเสมือนฉายแสงสว่างลงไปในความมืด ทำให้ความมืดมลายหายไป พวกเราก็จะเป็นอิสระหลุดพ้นจากพันธนาการในที่สุด
Saturday, October 2, 2010
โดดครั้งแรก ต่อสาย Static Line (ตอนที่ 1)
แต่เนื่องจากนักเรียนฯ ยังไม่มีประสบการณ์ในการโดด ครูฝึกจะให้นักเรียนโดดฯ ท่า Back Out โดยการต่อสาย Static Line หรือสายกระตุกคงที่ ทำหน้าที่ดึงร่มให้นักเรียนฯ ก่อน ที่ความสูง 3,000 ฟิต ขั้นตอนนี้ เมื่อนักเรียนฯ โดดออกจากเครื่องบินแล้ว ร่มจะถูกดึงให้กางออกโดยสาย Static Line ภายในระยะเวลาประมาณ 3 – 5 วินาที
Wednesday, September 22, 2010
ครั้งแรกกับการโดดเฮลิคอปเตอร์
หลังจากฝึกสำเร็จหลักสูตร “การโดดร่มแบบกระตุกเอง” จาก บก.สอ.บช.ตชด.หรือ “ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร” รับประกาศนียบัตร ไปเมื่อ 9 ส.ค. 2553 แล้ว ผมคิดว่าคงมีโอกาสริบหรี่ที่จะได้มีโอกาสโดดร่มดิ่งพสุธาท้าทายความกล้าและความสูงอีก
แต่แล้วโอกาสอันริบหรี่ที่ว่านั้นก็วิ่งกระโจนเข้ามาหาผมอย่างไม่คาดฝัน เมื่อ “น้าบัง” น้าชายผมซึ่งเป็นทหารรบพิเศษ และเป็นนักกีฬาโดดร่มแบบกระตุกเอง หรือดิ่งพสุธา ของกองทัพบก ทราบข่าวว่า ผมเพิ่งฝึกสำเร็จหลักสูตร จึงโทรมาชวนไปโดดร่มดิ่งพสุธาร่วมกับพี่ ๆ น้อง ๆ ทหาร ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งมักจะมีฝึกซ้อมโดดร่มฯ กันที่นี่เป็นประจำ และในวันที่ 19 ก.ย. 2553 จะมีการฝึกซ้อมโดดร่มฯ กันอีก เพื่อไปโดดโชว์เชื่อมความสัมพันธ์กับชาวบ้านในพิธีเปิดงานแข่งขันกีฬาตำบลที่ ร.ร.บ้านมะหุด ต.ประโด อ.มายอ จ.ปัตตานี ด้วยอารามดีใจ ผมรีบตอบตกลงน้าบังไปทันทีโดยไม่ชักช้า
19 ก.ย. 2553 (แห้วรับประทาน)
ราว ๆ 9 โมงเช้า ผมขับรถไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารตามลำพัง (โทรชวนเพื่อน กับน้อง ๆ คนอื่น ๆ แล้ว ไม่มีใครว่าง) ไปถึงสนามโดด ดีใจมากได้พบ “พี่หน่อย” กับ “พี่แจ็ค” นายทหาร จปร. เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นพี่ผม 1 ปี แต่เรียนเสธ ทบ.รุ่นเดียวกัน ทักทายกันเล็กน้อยตามประสาพี่น้อง “น้าบัง” เตรียมร่มสำหรับโดดมาให้ผมเรียบร้อยแล้ว ผมจะได้โดดในเที่ยวบินที่ 2
หลังจากนำร่มมาแต่งตัวเสร็จก็เกิดความรู้สึกตื่นเต้น ประหม่ากล้า ๆ กลัว ๆ ขึ้นมาอย่างกระทันหัน แต่จะให้หันหลังกลับ เปลี่ยนใจไม่โดดตอนนี้ก็คงไม่ได้แล้ว (เดี๋ยวจะเสียชื่อไปถึงครูบาอาจารย์ที่ค่ายนเรศวรหมด) ในที่สุดผมก็ขึ้นโดดเที่ยวบินที่ 2
เมื่อเฮลิคอปเตอร์ไต่ความสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 8,000 ฟิต สัมผัสได้ถึงอุณหภูมิที่ลดลงจนรู้สึกเย็นยะเยือก ขณะที่ผมกำลังจะเตรียมตัวโดด อนิจจา !! ฝาปิดร่มบนหลังผมดันไปเกี่ยวเข้ากับผนังของเฮลิคอปเตอร์ ทำให้สลักร่มหลุุด แพ็คร่มแตกกระเด็นออกมา นักโดดคนอื่นโดดลงไปจนหมด เหลือผมคนเดียว ด้วยความกลัวว่าร่มจะปลิวหลุดออกไปนอกเครื่องผมเลยนั่งทับแพ็คร่มเอาไว้ เมื่อเฮลิคอปเตอร์ร่อนลงถึงพื้น ผมต้องเดินลงจากเฮลิคอปเตอร์ด้วยความอดสูและเซ็งสุดขีด
“น้าบัง” ปลอบใจผมด้วยการจัดเที่ยวบินใหม่ให้ผมขึ้นโดดอีกในเที่ยวบินที่ 5 แต่ปรากฎว่า พอเที่ยวบินที่ 4 โดดเสร็จ นักบินลงมาแจ้งนักโดดฯ ว่า “น้ำมันหมด” ผมก็…อิอิ.. ^^ แห้วรับประทาน
หน.หวัง (ตท.27) กำลังสรุปผลหลังการฝึกซ้อมโดดร่มในวันนี้
แต่โอกาสของผมยังไม่หมดเสียทีเดียว เพราะพรุ่งนี้จะมีการโดดร่มฯ โชว์ชาวบ้านในพิธีเปิดงานแข่งขันกีฬาตำบลที่ ร.ร.บ้านมะหุด ต.ประโด อ.มายอ จ.ปัตตานี (ผมยังลังเลใจว่าจะไปร่วมโดดฯ ดีหรือไม่)
20 ก.ย. 2553 (ครั้งแรกกับการโดดเฮลิคอปเตอร์)
เมื่อวานเกิดอาการเซ็งสุดขีดหลังจากที่ขึ้นเครื่องแล้วแต่ไม่ได้โดด วันนี้ตอนแรกกะจะไม่มาแล้ว เพราะประหม่าที่จะโดดร่มฯ ต่อหน้าคนจำนวนมาก กลัวจะผิดพลาดท่ามกลางสายตาประชาชี แต่เมื่อวานผมดันลืมกระเป๋ากล้องถ่ายรูปไว้ทีศาลาข้างสนามโดดฯ พี่หน่อยกรุณาเก็บไว้ให้เพราะจำได้ว่าผมใช้กระเป๋ากล้องใบนี้ตั้งแต่เป็นนักเรียนเสธ ทบ. วันนี้ก็เลยกะว่าจะมารับกระเป่ากล้องถ่ายรูปคืน แต่ว่า ไหน ๆ ก็มาแล้วเลยชวน “เจ้าเหม่ง” นรต.61 รุ่นน้องผม แต่เรียนหลักสูตรการโดดร่มแบบกระตุกเองรุ่นเดียวกัน มาเป็นเพื่อนด้วย (เผื่อใจเล็ก ๆ ว่าจะได้โดดฯ)
บ่ายของวันที่ 21 ก.ย. 2553 ผมขับรถไป ร.ร.บ้านมะหุด ต.ประโด อ.มายอ จ.ปัตตานี กับ “เจ้าเหม่ง” ไปถึง ร.ร.บ้านมะหุด ก็พบกับเด็ก ๆ และชาวบ้านมาร่วมงานหลายร้อยคนวันนี้ “น้าบัง” เตรียมร่มมาให้ผมเหมือนเดิม แถมเตรียมร่มมาให้ “เจ้าเหม่ง” อีก 1 ร่มด้วย
ผมกับเจ้าเหม่งจะได้โดดเที่ยวบินที่ 3 เที่ยวเดียวกับน้าบัง
เมือถึงเวลา นักโดดฯ เที่ยวบินแรก นั่งโดยสารมาพร้อมเฮลิคอปเตอร์จากค่ายอิงคยุทธบริหาร มาโดดลงที่สนามโดดฯ ที่ความสูง 8,000 ฟิต จากนั้น เฮลิคอปเตอร์ก็ร่อนลงมาจอดที่สนามโดดรับนักโดดฯ เที่ยวบินที่ 2 ขึ้นไปโดด
นี่แหละครับ เฮลิคอปเตอร์แบบฮิวอี้ลำนี้ ที่นำผมขึ้นไปโดดดิ่งฯ ลงมา
เมื่อถึงคิวเที่ยวบินที่ 3 นักโดดฯ เดินขึ้นเครื่องฯ ที่เพิ่งร่อนลงมา เที่ยวบินนี้มีนักโดดฯ 8 คน ผมจะโดดลงเป็นคนที่ 7 ส่วนเจ้าเหม่งโดดคนสุดท้าย เมื่อนักบินนำเครื่องบินขึ้น อารมณ์ความรู้สึกแบบเดียวกันกับเมื่อวานก็แว่บเข้ามารบกวนจิตใจผมอีกแล้ว หัวใจเริ่มเต้นไม่เป็นจังหวะ ตึ้ก ๆ ตั้ก ๆ มองลงไปที่พื้นข้างล่างหลังคาบ้านเล็กลงเรื่อย ๆ รู้สึกเสียววูบวาบแต่ก็พยายามข่มความรู้สึกเอาไว้
นักโดดที่โดดร่วมกันในเที่ยวบินที่ 3
เมื่อเฮลิคอปเตอร์ไต่ความสูงขึ้นไปจนถึงระดับ 5,000 ฟิต (ตั้งใจไว้ที่ 8,000 ฟิต) อากาศเย็นลงเรื่อย ๆ นักบินบอกว่า ความสูงพอแล้ว นักโดดฯ กลุ่มแรกจึงจำต้องเกาะหมู่โดดลงไป 6 คน
ผมเว้นช่วงจากนักโดดคนก่อนหน้าผมประมาณ 2 – 3 วินาที แล้วก็ตัดสินใจโดดพุ่งทะยานตามออกไปทางประตูขวา ร่างลอยละลิ่วปลิวละล่องลอยไปตามแรงเฉื่อยของความเร็วเฮลิคอปเตอร์ เคว้งคว้างอยู่กลางอากาศ ผมพยายามทรงตัวอยู่ในท่า “frog” ได้อย่างมั่นคง ในช่วง 3 – 5 วินาทีแรกที่โดดออกจาก ฮ. ร่างของผมดิ่งลงมาอย่างว่างเปล่า เหมือนไม่มีอากาศรองรับ รู้่สึกเสียววาบไปทั้งตัวเหมือนจะขาดใจ แต่หลังจากนั้นเริ่มมีลมมาปะทะกับลำตัวมากขึ้น ๆ เรื่อย ๆ จนรู้สึกได้ถึงความหนาแน่นของมวลอากาศที่รองรับอยู่บริเวณด้านล่างของร่างกาย รู้สึกได้ถึงความเร็วของการตกที่มีอัตราเร่งเพิ่มขึ้น รู้สึกได้ถึงอะดรีนาลินที่แผ่ซ่านออกมาจนขนลุกซู่
“สวรรค์อยู่แค่เอื้อมจริง ๆ”
ผมเหลือบมองไปที่ “Altimeter” (เครื่องวัดความสูง) ที่ข้อมือซ้ายบ่อย ๆ เพราะรู้สึกระแวงว่าใกล้จะถึงพื้นดิน เมื่อดิ่งตกลงมาถึงความสูงประมาณ 3,500 ฟิต ผมตัดสินใจเอื้อมมือขวาไปจับ “throw away” ที่บริเวณตะโพกด้านขวาเพื่อเปิดร่ม พร้อมกับลดมือซ้ายลงมากันที่หน้าผาก ผมดึง “throw away” ออกมาโปรยทิ้งไป แล้วกลับไปอยู่ท่า frog เหมือนเดิม พอ “throw away” รับลม เป็นร่มนำดึงร่มหลักกางเต็มที่ ทิวทัศน์อันตระการตาจากมุมสูงก็ปรากฎแก่สายตาต่อมาผมจึงบังคับร่มลงสนามโดดด้วยความปลอดภัย
ในที่สุดตอนนี้ ผมก็รู้แล้ว ว่าการโดดเฮลิคอปเตอร์ให้ความรู้สึกอย่างไร…
Monday, September 20, 2010
การดิ่งพสุธา ทำลายสถิติโลกตลอดกาล
วันที่ 16 พฤศจิกายน 1959 นาวาอากาศเอกโจเซฟ คิตติงเจอร์ (Joseph Kittinger) สวมร่มชูชีพของฟรานซิสขึ้นบอลลูนยักษ์ขนาด 61 เมตร ลอยสู่ท้องฟ้าถึงระดับชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ที่ความสูงจากพื้นโลก 23 กิโลเมตรแล้วกระโดดลงมาจากบอลลูน
| Joseph Kittinger (ปัจจุบัน) |
โจเซฟกระตุกร่มชั้นแรก สายร่มไปพันรอบคอทำให้เขาควงสว่านด้วยความเร็ว 120 รอบต่อนาที ดิ่งลงสู่พื้นโลกอย่างรวดเร็วและเขาก็หมดสติหลังจากนั้นเพียงไม่กี่นาที แต่โชคดีที่ระบบกางร่มอัตโนมัติทำงานได้อย่างไม่มีที่ติ ร่มชูชีพหลักชั้นที่ 2 กระตุกออกเมื่อร่างของโจเซฟตกลงมาที่ความสูง 10,000 เมตร
โจเซฟกลับไปพักรักษาตัว 3 สัปดาห์แล้วขอลองใหม่อีกครั้ง คราวที่แล้วเขากระตุกร่มเร็วเกินไป แต่คราวนี้เขารอให้ร่างตกลงมาที่ระดับความสูง 17,000 เมตรจึงค่อยกระตุกร่มและทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี แต่นั่นยังไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเครื่องบินรบรุ่นใหม่ ๆ บินสูงกว่านั้นมาก
การทดลองครั้งที่ 3 มีขึ้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 1960 โจเซฟนำบอลลูนขึ้นไปที่ระดับความสูง 31 กม.แล้วกระโดดลงมา เขาปล่อยให้ร่างร่วงลงสู่พื้นโลกนาน 4 นาที 36 วินาที ทำความเร็วในการตกถึง 988 กม./ชม. ก่อนที่จะกระตุกร่มชั้นแรกและเมื่อเขาร่วงลงมาที่ระดับความสูง 5,330 เมตรจึงค่อยกระตุกร่มหลักลงสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย รวมเวลาที่ลอยอยู่กลางอากาศ 13 นาที 45 วินาที โจเซฟกลายเป็นนักดิ่งพสุธาที่กระโดดลงจากระดับความสูงที่สุดในโลกจนแม้ปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถทำลายสถิตินี้ได้
Saturday, September 18, 2010
ด่านที่สอง: ฝึกปฏิบัติภาคพื้นดิน
ช่วงเช้าของวันแรกหลังจากพิธีเปิดหลักสูตร มีการเรียนภาคทฤษฎี นักเรียนฯ ได้เข้าห้องเรียน ฟังครูฝึกบรรยายถึงประวัติและความเป็นมาของการโดดร่มแบบกระตุกเอง การโดดออกจากเครื่องบิน ท่าทางการทรงตัวในอากาศ หลัก aero dynamic การพับร่ม การใช้ร่มช่วย (reserv) และการบังคับร่มเหลี่ยม ฯลฯ แล้ว ในตอนบ่ายและวันต่อ ๆ ไปนักเรียนฯ จะต้องออกไปฝึกปฏิบัติกลางแจ้ง
“สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ”
การจะทำอะไรให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์จะต้องลงมือปฏิบัติจริงจึงจะเกิดทักษะและความชำนาญ การฝึกโดดร่มแบบกระตุกเองก็เช่นเดียวกัน ระยะเวลา 1 สัปดาห์ นักเรียนฯ จะต้องผ่านการฝึกตามสถานีต่าง ๆ ตามมาตรฐานการฝึกเพื่อสร้างความชำนาญ ความมั่นใจ สามารถเอาชนะตัวเอง เอาชนะความกลัว เอาชนะอารมณ์ความรู้สึก และความไม่รู้ที่เราจะต้องเผชิญ เพราะเมื่อเท้าพ้นออกจากอากาศยานไปแล้ว นักโดดแต่ละคนมีตัวเองเป็นที่พึ่งแห่งตน เมื่อยามคับขัน คนอื่นไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้เลย
การฝึกปฏิบัติภาคพื้นดิน นักเรียนฯ จะได้รับการฝึกจากครูฝึกตามสถานีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
สถานีฝึกท่าทางการทรงตัวในอากาศ และฝึกแดะบนถังน้ำมัน
หากเป็นประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลาย เมื่อนักเรียนฯ ได้เรียนรู้ท่าทางการทรงตัวในอากาศแล้ว จะได้ฝึกทักษะการทรงตัว และฝึกปฏิบัติท่าทางที่ถูกต้องใน Wind Tunel แต่เนื่องจาก Wind Tunel นั้นมีราคาแพงมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่มีงบประมาณพอที่จะสนับสนุนในการสร้าง Wind Tunel สำหรับฝึกนักเรียนฯ ได้ ครูฝึกค่ายนเรศวรจึงคิดค้น Wind Tunel แบบง่าย ๆ สไตล์ค่ายนเรศวรให้นักเรียนฯ ได้ฝึกทักษะการทรงตัวในอากาศแทนการฝึกใน Wind Tunel
นี่แหละครับ Wind Tunel ของพวกเรา ^^
การทรงตัว ท่ามาตรฐาน frog บนถังน้ำมัน
สถานีฝึกการบังคับร่มเหลี่ยม
การตรวจร่มเหลี่ยม (เปิดร่ม) (เป็นสิ่งที่นักเรียนฯ ทุกนายจะต้องท่องจำให้ขึ้นใจ)
- เปิดร่มตรวจดู cell ทุก cell ทุกช่องว่ากางเต็มที่ทุกช่องหรือไม่
- ตรวจดู slider (แผ่นชะลอการกางของร่ม) ว่าเลื่อนลงมายังจุดรวมสายหรือไม่ ถ้า cell ไม่กินลม แผ่น slider ไม่ลง ให้ปฏิบัติตามข้อ 3
- ให้ดึงสาย risers คู่หลัง ดึงลงมาให้สุดแล้วปล่อยหลาย ๆ ครั้งจนลง
- ดึงสาย risers เส้นใดเส้นหนึ่งให้หันหน้าทวนลม
- ดูร่มข้างเคียง ซ้าย – ขวา หน้า – หลัง แล้วฉีกแผ่น slider
- ปลดล็อกเบรค
- ปลดสายบังคับลงมา ฝึกหัดเลี้ยว ซ้าย – ขวา แคบ – กว้าง จุดหยุด จุด stall
- หาสนาม คำนวณความเร็วของลม กะระยะ หันหน้าทวนลมเพื่อเตรียมตัวลงพื้น
- ห้ามกลับร่มต่ำกว่า 300 ฟุต
- เปิดร่ม ล็อกเบรกด้านใดด้านหนึ่งหลุดให้ดึงสายบังคับด้านที่ไม่หลุดลงมาให้ร่มหยุดแล้วปฏิบัติตามข้อ 1 ใหม่
หมายเหตุ: เปิดร่ม สายบังคับ “ขาด” ด้านใดด้านหนึ่ง ให้ปลดด้านที่ไม่ขาดให้หลุดแล้วใช้สาย risers บังคับแทน
สถานีฝึก บ.จำลอง
สถานีฝึก บ.จำลอง ฝึกการปฏิบัติขณะอยู่บนอากาศยานก่อนจะโดดออกมา
ราวเหล็กไว้สำหรับพยุงตัวก่อนโดดด้วยท่าพื้นฐาน back down
เมื่ออากาศยานบินใกล้จะถึง drop zone (dz) jump master จะสั่ง get ready เพื่อให้นักโดดมีความพร้อมในการปฏิบัติ
เมื่อสั่ง stand up นักโดดก็จะลุกขึ้นยืน
จากนั้น jump master จะสั่ง standby นักโดดคนที่ 1 สืบเท้าขวาถึง lamp ท้าย มือขวาจับที่ราวแล้วหมุนตัว 180 องศา หันหน้าเข้าหาตัวเครื่อง มือซ้ายจับราว พร้อมกับจัดท่ายืนโดยให้ส้นเท้ายื่นออกนอกขอบท้าย lamp ออกมา 1 ใน 3 ของเท้า
เมื่อ jump master สั่ง ready นักโดดย่อเข่าลงเล็กน้อยเพื่อเตรียมสปริงตัวโดด
เมื่อ jump master สั่ง go !! นักโดดก็จะสปริงตัวแดะไปข้างหลังในท่า back down
สถานีฝึกพับร่ม
การโดดร่มแบบกระตุกเอง นักโดดจะต้องพับร่มของตัวเอง จะไว้ใจให้คนอื่นมาพับให้ก็กระไรอยู่ ร่มจะกางหรือไม่กางอยู่ที่การพบร่มด้วยส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น สถานีนี้ทุกคนจึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ
ครูฝึกสอนการพับร่ม
สถานีฝึกล้มตัว
ความจริงหากบังคับร่มได้อย่างถูกต้อง เมื่อถึงพื้นดินนักโดดสามมารถที่จะเดินหรือวิ่งไปตามความเร็วของร่มได้ แต่ครูฝึกให้นักเรียนฯ ทบทวนการฝึกล้มตัวเล็กน้อยเพื่อสร้างความมั่นใจขณะลงพื้นมากยิ่งขึ้น
ขณะบังคับร่มลงพื้น
งอเข่า เบี่ยงตัวให้แรงผ่อนออกไปทางข้างลำตัว
ผ่อนให้แรงตกกระทบไล่จากน่องไปตามท่อนขาตามลำดับ
สถานีฝึกโดดหอ
การฝึกโดดหอเป็นสถานีที่ครูฝึกใช้ในการตรวจสอบท่าทางการโดด และการทรงตัวของนักเรียน หลังจากที่ผ่านการฝึกท่ามาตรฐานต่าง ๆ มาแล้ว ก่อนที่จะขึ้นโดดจริงจากเครื่องบิน บางคนโดดไม่กี่ครั้งก็ผ่าน แต่หลายคนโดดแล้วโดดอีกนับสิบ ๆ ครั้ง จนได้รับฉายาว่า
“ปู่หอ” หรือ “ย่าหอ”
ก่อนโดด ครูฝึกสั่ง standby… (นักโดดเตรียมตัว)
ครูฝึกสั่ง ready… (นักโดดย่อเข่าเล็กน้อย เพื่อสปริงตัว)
ครูฝึกสั่ง go !! (นักโดดสปริงตัวโดดออกไปด้านหลัง)
นับถ่วงเวลา… one thousand.. two thousand.. (มือขวาตบ toggle เพื่อเตรียมเปิดร่ม)
three thousand.. (ดึง toggle กลับไปอยู่ท่าเดิม แล้วนับต่อ)
four thousand.. five thousand.. check canopy…(ตรวจสอบว่าร่มกางหรือไม่)
ฯลฯ
โดยปกติ หลักสูตรการโดดร่มเองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้เวลาฝึกภาคพื้นดินเพียง 1 สัปดาห์ หลังจบการฝึกภาคพื้นดิน 1 สัปดาห์แรก สัปดาห์ถัดไป พวกเรากระเหี้ยนกระหือรืออยากที่จะโดดเร็ว ๆ แต่ปรากฎว่า รุ่นของผมเกิดปัญหาอุปสรรคในการโดดเล็กน้อย คือ บ.สกายแวน ซึ่งเป็นอากาศยานที่จะใช้ในการโดดถึงวงรอบที่จะต้องเปลี่ยนอะไหล่ล้อยาง แต่ล้อยางที่จะเปลี่ยนต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการรอนำเข้าอะไหล่ล้อยางอีก ยังไม่ทราบกำหนดว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ จำเป็นต้องขยายระยะเวลาฝึกภาคพื้นดินเพิ่มขึ้นอีก 2 สัปดาห์ กลายเป็น 3 สัปดาห์ คราวนี้ ความรู้สึกกระเหี้ยนกระหือที่จะโดดยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นอีกหลายเท่า